วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การแบ่งจิตของมนุษย์ ระดับที่ 3

ระดับที่สาม เป็นระดับของจิตศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก โดยเป็นกระบวนการที่พัฒนาต่อมาจากระดับ จิตใจกระจ่างแจ้ง ระดับนี้ เรียกว่า การมี ญาณทัสนะ จิตที่มี ญาณทัสนะ เป็นผลมาจากการที่จิตสำนึกของผู้นั้น สามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับมิติขั้นสูงจนสามารถได้รับความรู้และข่าวสารจาก ภูมิปัญญาอมตะ ได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับจิตในระดับ จิตใจสูงส่ง และ จิตใจกระจ่างแจ้ง

จิตในระดับที่มี ญาณทัสนะ นี้ จึงสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพให้แก่ “จิตศักดิ์สิทธิ์” หรือพระผู้เป็นเจ้าได้ แม้จะยังไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดก็ตาม อนึ่ง จิตที่มีญาณทัสนะ เป็นจิตที่มีพลังพิเศษอยู่ 4 ประการคือ

พลัง ในการเห็นความจริงหรือสัจธรรมหรือที่เรียกว่า อิลมุลยะกีน
พลัง ในการได้รับแรงบันดาลใจหรือการดลจากพระเจ้าในบางครั้ง หรือที่เรียกว่า การอิลฮาม นั่นเอง
พลัง ในการเข้าใจความหมายของเรื่องราวได้โดยพลัน หรือในปรัชญาอิสลามเรียกว่า อัลอิลมุล ฮุฎูรี เป็นภาพหรือแก่นแห่งวิชาการที่ปรากฏขึ้นเองโดยปราศจากการเรียนรู้ หรือได้รับการถ่ายทอดจากผู้ใด หากแต่เป็นผลพวงที่เกิดจากการฝึกฝนตนเองไปตามระดับขั้น ยิ่งออกห่างจากความผิดหรือบาปกรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้สัจธรรมความจริงมากเท่านั้นหรือเรียกอีกอย่างว่า อัยนุลยะกีน
อัล-กุรอาน สำทับเรื่องนี้ว่า สูเจ้าจงสำรวมตนต่ออัลลอฮฺ แล้วพระองค์จะสอนทุกสิ่งแก่เจ้าاتقو الله يعلم كم الله ยังจะมีผู้ใดที่สามารถสอนสั่งวิชาการการได้ดีเยี่ยมไปกว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) อีก ขณะที่พระองค์ทรงเป็น อะลีม อะลากุลลิชัย ความรอบรู้ของพระองค์กับซาต (อาตมัน) ของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกัน ขณะที่ความรู้ของเรากับซาต (ตัวตน) ของเรามิได้เป็นหนึ่งเดียวกัน
พลัง ในการเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน หรือที่เรียกว่า การมองเห็นทุกสิ่งด้วยตาใจ ไม่ใช่ตาเนื้อ หรือมองเห็นทุกสิ่งด้วยตาปัญญา มิใช่ตาแห่งผัสสะ ซึ่งเรียกพลังในส่วนนี้ว่า ฮักกุลยะกีน หมายถึงมองเห็นสัจธรรมทุกประการของทุกสรรพสิ่ง
การที่เขาสรรสร้างความดีเนื่องจากมองเห็นสัจธรรมแห่งความดีงามนั้น และการที่เขาหลีกเลียงไม่กระทำบาปหรือความผิดทั้งปวง เนื่องจากมองเห็นสัจธรรมแห่งความชั่วนั้นนั่นเอง

ดังที่ ท่านอะลี แบ่งการอิบาดะฮฺ ของปวงบ่าวไว้ 3 ประเภท กล่าวคือ การอิบาะฮฺของพ่อค้า การอิบาดะฮฺของทาส และการอิบาดะฮฺของบ่าวผู้เป็นอิสระ ซึ่งการอิบาดะฮฺของบ่าวอิสระหมายถึง ไม่ว่าพระองค์จะให้รางวัลตอบแทนหรือไม่ ข้าพระองค์ก็ขออิบาดะฮฺต่อพระองค์ เนื่องจากความรักและความคู่ควรในการเป็นพระเจ้าของพระองค์ หรือแม้แต่พระองค์จะไม่หลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง ข้าพระองค์ก็ขออิบาดะฮฺต่อพระองค์อยู่ดี เนื่องจากเหตุผลเดียวกัน

ดังนั้น จิตในระดับที่สามนี้เรียกว่า (นัฟซุลมุฎเฎาะมะอินนะฮฺ) เป็นจิตที่สงบมั่น ณ พระผู้เป็นเจ้า เป็นจิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักและเรียกร้องให้กลับคืนสู่พระองค์ตลอดเวลา ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า

أَيَّتُهَا النَّفْسُ الْمُطْمَئِنَّةُ ارْجِعِي إِلَى رَبِّكِ رَاضِيَةً مَّرْضِيَّةً . فَادْخُلِي فِي عِبَادِي وَادْخُلِي جَنَّتِي

โอ้ ดวงชีวิตที่สงบมั่นเอ๋ย จงกลับมายังพระผู้อภิบาลของเจ้า ขณะที่เจ้ามีความยินดี (ในพระองค์) และเป็นที่ปิติ (ของพระองค์) ฉะนั้น จงเข้ามาอยู่ในหมู่ปวงบ่าวของข้าเถิด. และจงเข้ามาอยู่ในสรวงสวรรค์ของข้าเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น